การถ่ายรูปคน ควรใช้โหมดโปรแกรม โหมดกำหนดความไวชัตเตอร์เอง และโหมดกำหนดรูรับแสงเองเมื่อไหร่
- Bradley Proost
- Jan 17, 2019
- 1 min read
โหมดอัตโนมัติทำให้การเริ่มต้นถ่ายภาพเป็นเรื่องง่ายสำหรับช่างภาพมือใหม่ ถึงแม้ว่าจะช่วยคุณได้ในตอนแรก ๆ แต่จะมีข้อจำกัดหลายอย่างในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณต้องถ่ายรูปคนในสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน คุณก็จำเป็นต้องตั้งค่าแตกต่างกันไปด้วย ตอนนี้เองที่โหมดโปรแกรม โหมดกำหนดความไวชัตเตอร์เอง และโหมดกำหนดรูรับแสงเองเข้ามามีบทบาท
โหมดอัตโนมัติใช้งานง่าย ช่วยให้คุณถ่ายภาพคนได้ภายในไม่กี่วินาทีก็จริง แต่หากคุณต้องการเพิ่มพูนทักษะในฐานะช่างภาพแล้วละก็ เราแนะนำให้คุณลองหัดใช้งานโหมดอื่น ๆ บ้าง โดยเฉพาะโหมดโปรแกรม โหมดกำหนดความไวชัตเตอร์เอง และโหมดกำหนดรูรับแสงเอง
โหมดโปรแกรม (กำกับด้วยตัวอักษร P บนโหมดแป้นเลือกโหมด) จะปรับขนาดรูรับแสงและความไวชัตเตอร์ของกล้องให้โดยอัตโนมัติ แต่คุณจะปรับค่า ISO หรือความไวแสงเองได้ เมื่อตั้งค่า ISO ต่ำ ๆ เช่น 100 ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงเพียงพอ คุณก็จะได้ภาพที่คมชัด แต่หากตั้งค่า ISO อย่างเช่น 3200 ขึ้นไป คุณจะสามารถถ่ายรูปในสภาพแสงน้อยได้ แต่แลกมากับจำนวน ‘นอยซ์’ ที่มากขึ้น ทำให้ภาพเต็มไปด้วยจุดเกรน
โหมดนี้เหมาะสำหรับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับคนที่อิ่มตัวกับการถ่ายภาพในโหมดอัตโนมัติแล้ว เพราะจะเปิดโอกาสให้คุณทดลองตั้งค่า ISO และเรียนรู้มากขึ้นว่าการตั้งค่าแบบไหนเหมาะกับสภาพแสงแบบใดบ้าง หากต้องการเรียนรู้มากขึ้น เราแนะนำให้คุณทดลองตั้งค่า ISO ถ่ายรูปตอนกลางคืน หรือในสภาพแสงน้อย เช่น ในออฟฟิศมืด ๆ
สังเกตดูรูปทางซ้ายมือ คุณจะเห็นว่าภาพไม่มีเกรนมากนัก นั่นเป็นเพราะใช้ค่า ISO ต่ำ แต่รูปทางขวามือ ถ่ายโดยตั้งค่า ISO สูงถึง 3200 ทำให้เกิดเกรนได้มากขึ้น

(L) EOS 6D, เลนส์ EF24-105 มม. f/4L IS USM, f/4.0, 80 มม., 0.5 วินาที, ISO 100 (R) EOS 6D, เลนส์ EF24-105 มม. f/4L IS USM, f/4.0, 80 มม., 1/60 วินาที, ISO 3200
ในโหมดความไวชัตเตอร์เอง (กำกับด้วยตัวอักษร ‘Tv’ บนแป้นเลือกโหมด) คุณจะสามารถแก้ไขค่า ISO และความไวชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพวัตถุที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วแบบชัดเจน หรือทำให้วัตถุดูพร่ามัว ขึ้นอยู่กับว่าคุณชอบภาพแบบไหน
ภาพทางซ้ายมือถ่ายโดยใช้ความไวชัตเตอร์ 1/15 ภาพถ่ายที่ได้จึงพร่ามัวอย่างมาก ส่วนภาพทางขวามือถ่ายด้วยความไวชัตเตอร์ 1/60 ภาพถ่ายจึงพร่ามัวน้อยกว่ากัน

(L) EOS 6D, เลนส์ EF24-105 มม. f/4L IS USM, f/22.0, 35 มม., 1/15 วินาที, ISO 100 (R) EOS 6D, เลนส์ EF24-105 มม. f/4L IS USM, f/11.0, 35 มม., 1/125 วินาที, ISO 100
อยากรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับความไวชัตเตอร์หรือเปล่าดูวิธีเลือกความไวชัตเตอร์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพกลางคืนได้ที่นี่
อีกโหมดหนึ่งที่คุณสามารถปรับได้ทั้งค่ารูรับแสงและ ISO ก็คือ โหมดกำหนดรูรับแสงเอง (กำกับด้วยตัวอักษร ‘Tv’ บนแป้นเลือกโหมด) สิ่งแรกที่คุณจะเห็นความแตกต่างในขณะปรับรูรับแสงก็คือ ระยะชัดลึกของภาพ
การปรับขนาดของรูรับแสงมีประโยชน์มากหากคุณอยากให้ผู้ชมเบนความสนใจมาที่วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งในภาพ และทำให้วัตถุชิ้นอื่น ๆ ในฉากหลังดูพร่ามัว จากตัวอย่างด้านล่าง รูปภาพทางซ้ายมือตั้งค่ารูรับแสงที่ 1/16 ซึ่งกล้องจะเก็บรายละเอียดของฉากหลังส่วนใหญ่เอาไว้ ส่วนภาพทางขวามือตั้งค่ารูรับแสงที่ 4.0 โดยโฟกัสเฉพาะที่ตัวผู้หญิง แล้วเบลอฉากหลัง ซึ่งเหมาะมากหากคุณต้องการภาพถ่ายที่โฟกัสที่คนใดคนหนึ่งหรือวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งเท่านั้น

(L) EOS 6D, เลนส์ EF24-105 มม. f/4L IS USM, f/16, 45 มม., 1/13 วินาที, ISO 800 (R) EOS 6D, เลนส์ EF24-105 มม. f/4L IS USM, f/4.0, 45 มม., 1/25 วินาที, ISO 100
ตอนนี้คุณมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโหมดต่าง ๆ ของกล้องสำหรับถ่ายรูปคนแล้ว ถึงเวลาออกไปลองด้วยตัวเอง!
คุณอยากเรียนรู้เรื่องอะไรในลำดับต่อไป แบ่งปันความคิดเห็นกับเราด้านล่างเลย!
เคดิตรูปภาพ snapshot
Comments