“เทคนิคตัดต่อ” หัวใจของการเล่าเรื่องผ่านวีดีโอ
- Bradley Proost
- Jan 6, 2019
- 1 min read
ในกระบวนการทำ Production Video นั้น กระบวนการตัดต่อจะเป็นกระบวนการในขั้นตอนสุดท้าย หรือ Post-production เป็นขั้นตอนที่สำคัญในการปรับแต่งงานให้ออกมาสมบูรณ์ น่าสนใจ ก่อนที่จะนำออกมาสู่สายตาผู้บริโภคนั่นเองในกระบวนการตัดต่อนั้น ผู้ตัดต่อจะต้องมีความรู้ความเข้าใจใน 2 ส่วนด้วยกันคือ ส่วนของเครื่องมือที่ใช้ตัดต่อ ซึ่งหมายถึงวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตลอดจนไปถึงพวกฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้ และส่วนของความเข้าใจในการตัดต่อ
การตัดต่อ ก็คือการเชื่อมระหว่างช็อตสองช็อต โดยแบ่งออกได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การตัดต่อแบบชนภาพ (The cut) ก็คือการตัดภาพชนกัน จากช็อตหนึ่งเข้ากับอีกช็อตหนึ่ง ซึ่งคนดูจะไม่ทันได้สังเกตเห็นว่ามีการตัดต่อ
การตัดต่อแบบผสมภาพ (The mix หรือ The dissolve) เป็นการเปลี่ยนภาพจากช็อตหนึ่งไปยังอีกช็อตหนึ่ง โดยค่อย ๆ เปลี่ยนภาพให้เหลื่อมกัน ซึ่งคนดูจะสามารถมองเห็นได้
และการตัดต่อแบบเลือนภาพ (The fade) แบ่งออกได้เป็นสองแบบคือ fade in จะเป็นการเชื่อมภาพโดยการเลือนภาพเข้า จะเริ่มจากภาพสีดำและค่อย ๆ ปรากฏภาพซ้อนขึ้นมา นิยมใช้เพื่อการเปิดเรื่อง และ fade out คือการทำให้ภาพในท้ายช็อต ค่อย ๆ เลือนไปจนเป็นสีดำมืดสนิท มักใช้ในการปิดเรื่องตอนจบ โดยทั่วไปแล้ว การตัดต่อจะสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท ได้แก่
1.การตัดต่อการกระทำ หรือ Action edit เรียกอีกอย่างว่าการตัดต่อความเคลื่อนไหว หรือความต่อเนื่อง
2.การตัดต่อตำแหน่งจอ /ตำแหน่งภาพ หรือ Screen position edit เรียกอีกอย่างว่าการตัดต่อทิศทาง หรือการตัดต่อสถานที่
3.การตัดต่อรูปแบบ หรือ Form edit เป็นการตัดต่อที่สามารถอธิบายถึงการเชื่อมต่อจากช็อตหนึ่งไปยังอีกช็อตหนึ่งได้ดีที่สุด ซึ่งมีการแสดงทั้งรูปทรง สีสัน มิติ หรือเสียง ที่มีความสัมพันธ์กัน อาจตัดต่อแบบชนก็ได้ แต่โดยมากแล้วจะตัดต่อแบบผสม
4.การตัดต่อที่มีเรื่องราว หรือ Concept edit บางครั้งอาจเรียกว่าการตัดต่อความคิด หรือการตัดต่อที่เคลื่อนไหว จะต้องมีการวางแผนการตัดต่อที่ดี เพื่อความไหลลื่นของภาพและอารมณ์ของผู้ชม
5.การตัดต่อแบบผนวก หรือ Combined edit การตัดต่อในแบบนี้จะมีความยากมากที่สุด เพราะเป็นการตัดต่อทุกรูปแบบเอาไว้ด้วยกัน แต่ก็มีความทรงพลังมากที่สุดเช่นกัน

By :Bradley1
Commentaires